image

WAT PORTAL

วัดโพธิ์ชัย(โพธิชัย)
วัดโพธิ์ชัย เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดนิกายมหานิกาย ตั้งอยู่ที่ถนนประจักษ์ศิลปาคม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
ข้อมูลทั่วไป
  • ชื่อ : วัดโพธิ์ชัย(โพธิชัย)
  • ที่ตั้ง : ต.ในเมือง อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย 43000
  • นิกาย : มหานิกาย
  • ชนิด : วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
  • ประเภทวัด : พระอารามหลวง, วัดเพื่อการท่องเที่ยว
  • วัน - เวลาเปิด :
    วันอาทิตย์
    : 08:00 - 16:30
    วันจันทร์
    : 08:00 - 16:30
    วันอังคาร
    : 08:00 - 16:30
    วันพุธ
    : 08:00 - 16:30
    วันพฤหัสบดี
    : 08:00 - 16:30
    วันศุกร์
    : 08:00 - 16:30
    วันเสาร์
    : 08:00 - 16:30
  • หมายเหตุ : เป็นวัดเพื่อการท่องเที่ยว (เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้)

 

ประวัติ
วัดโพธิ์ชัย  เดิมเป็นวัดร้างตั้งอยู่บริเวณบ้านไผ่ มีชื่อเรียกกันว่า วัดผีผิว ไม่ปรากฏหลักฐานเมื่อแรกสร้าง แต่สันนิษฐานว่าเป็นพระอารามสำคัญของเวียงจันทน์มาแต่เดิม จนเมื่อท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) และได้มาสร้างเมืองหนองคายขึ้นที่บ้านไผ่ มีการอัญเชิญ พระพุทธรูปสำคัญของเวียงจันทน์ที่ยึดมาได้คราวปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ มาไว้ที่วัดหอก่องในปี พ.ศ. ๒๓๗๒ แต่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณวัดหอก่องทำให้เกิดเป็นรอยแยกขนาดใหญ่ต่อหน้าพระเสริม ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันของชาวเมืองและขุนนางข้าราชการไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่าเป็นอาเพศบ้านเมืองจะทุกข์ร้อน บ้างก็ว่าเป็นลางบอกเหตุว่าพระเสริมต้องการเสด็จไปวัดอื่น บ้างก็ว่าวัดหอก่องเป็นวัดเล็กไม่เหมาะสมที่จะนำพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์เวียงจันทน์ทรงสร้างมาประดิษฐานไว้ในที่แคบๆ เช่นนี้ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนั้น พระปทุมเทวาภิบาล ผู้เป็นเจ้าเมืองและกรมการเมืองหนองคายจึงได้ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร ในที่สุดก็มีมติว่าจะต้องหาสถานที่เพื่อสร้างเป็นวัดใหญ่ และอัญเชิญพระเสริมไปประดิษฐานอยู่ซึ่งสถานที่ดังกล่าวก็คือ วัดผีผิว

 

วัดผีผิว เป็นวัดร้างที่มีความสำคัญมาแต่ครั้งอดีต ภายในประดิษฐานพระธาตุเจดีย์ลาวโบราณที่งดงาม และไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ดังนั้น จึงมีมติในการบูรณะวัดผีผิวและเปลี่ยนนามใหม่เป็น วัดโพธิ์ชัย เมื่อกรมเมืองหนองคายมีมติดังกล่าวแล้ว พระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) ผู้เป็นเจ้าเมืองก็ได้นำความเข้าปรึกษากับ ท่านญาครูหลักคำ ผู้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่สุดของเมืองหนองคาย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ พระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) เจ้าเมืองหนองคาย จึงเป็นประธานฝ่ายฆราวาสโดยมีท่านญาคูหลักคำเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ทำการยกวัดโพธิ์ชัย คือการยกฐานะจากวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา พร้อมกับบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่เป็นที่จำพรรษาของพระภิกษุและสามเณรขึ้น เมื่อวันที่ ๒๑ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๘๒ ดังปรากฏในพงศาวดารย่อเมืองเวียงจันทน์ว่า

         ...ศักราชได้ ๒๐๑ ปีกัดไค้ เจ้าเมืองหนองคาย (ยก) วัดโพไซย เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ วันเสาร์แล…

เมื่อทำการบูรณะและยกวัดเสร็จแล้ว พระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) ได้นิมนต์ท่านญาคูหลักคำมาเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย และได้ประกอบพิธีอัญเชิญพระเสริมจากวัดหอก่องมาประดิษฐานที่สิม (พระอุโบสถ) วัดโพธิ์ชัย แต่นั้นมาวัดโพธิ์ชัยก็กลายมาเป็นวัดหลวงประจำเมืองหนองคาย เนื่องจากเจ้าเมืองเป็นผู้สร้างหรือบูรณะขึ้น อนึ่ง ภายหลังจากประกอบพิธียกวัดโพธิ์ชัยและอัญเชิญพระเสิมมาประดิษฐานยังวัดโพธิ์ชัยแล้ว ถัดจากนั้นมาอีก ๑๓ วัน คือ วันที่ ๔ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๒ ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญคือเกิดสุริยุปราคาขึ้น

 

หลัง พ.ศ. ๒๓๘๒ เป็นต้นมา พระเสิมและพระใสก็ได้รับการเคารพบูชาจากชาวเมืองหนองคายรวมถึงขุนนางข้าราชการจากกรุงเทพมหานครที่ได้เดินทางมาราชการที่เมืองหนองคายเป็นนิจ สมัยนั้นวัดโพธิ์ชัยมีท่านญาคูหลักคำเป็นเจ้าอาวาสก็ดำเนินการปกครองและพัฒนาวัดตามสมควร โดยได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากท่านเจ้าเมืองคือพระปทุมเทวาภิบาล (บุญมา) ทำให้วัดได้รับความเจริญมาตามลำดับ [2] ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะได้พระพุทธรูปขนาดใหญ่เพื่อมาประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดบวรสถานมงคลหรือวัดพระแก้ววังหน้าที่ทรงให้สร้างขึ้นที่บริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล และได้ทรงทราบว่ามีพระพุทธรูปล้านช้างที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงมีพระรับสั่งให้อัญเชิญมาตั้งตั้งครั้งสงครามปราบกบฎเวียงจันทน์แต่ยังคงค้างอยู่ที่เมืองหนองคาย ในปีพ.ศ. ๒๓๙๙ พระองค์ทรงมีพระบวราชโองการให้ขุนวรราชธานี และเจ้าเหม็น (โอรสเจ้าอนุวงศ์)เป็นข้าหลวงขึ้นมาอัญเชิญพระเสริมจากเมืองหนองคายไปกรุงเทพฯ ดังปรากฏในพงศาวดารย่อฯ ความตอนหนึ่งว่า "เดือน ๓ ขึ้น ๙ ค่ำ มื้อเต่าเส็ด ขุนวรธานีแลเจ้าเหม็น เปนข้าหลวงมาเอาพระเสิม ยกจากเมืองหนองคายไปไทยก็ปีนั้น" และเมื่อขุนวรธานีและเจ้าเหม็น เป็นข้าหลวงอัญเชิญพระเสริมจากวัดโพธิ์ชัยลงไปยังกรุงเทพฯ ขุนวรธานีจะอัญเชิญพระใสไปพร้อมกับพระเสริมด้วย แต่เกิดปาฏิหาริย์ โดยพราหมณ์ผู้อัญเชิญนั้นไม่สามารถขับเกวียนนำพระใสไปได้ แม้จะใช้กำลังคนหรืออ้อนวอนอย่างไรก็ตาม จนในที่สุดเกวียนได้หักลง เมื่อหาเกวียนใหม่มาแทนก็ไม่สามารถเคลื่อนไปได้อีก จึงปรึกษาตกลงกันว่าให้อัญเชิญพระใสมาไว้ที่วัดโพธิ์ชัยแทนพระเสริม ดังนั้นหลวงพ่อพระใสจึงประดิษฐานที่วัดโพธิ์ชัยจนถึงปัจจุบัน 

 

วัดโพธิ์ชัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเป็นองค์ประธาน ยกช่อฟ้าพระอุโบสถวัดโพธิ์ชัย พ.ศ. 2522 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2523 ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา พ.ศ. 2524 ยกฐานะขึ้นเป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ปัจจุบันมี พระธรรมมงคลรังษี (คำบ่อ อรุโณ) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๘ เป็นเจ้าอาวาส

 

หลวงพ่อพระใส
หลวงพ่อพระใส จัดสร้างขึ้นโดย พระราชธิดาพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่ง ล้านช้าง ทั้ง ๓ พระองค์ คือ พระสุก พระเสริม และพระใส, ส่วนพระสุกนั้นได้จมลงที่แม่น้ำโขงขณะอัญเชิญลงมายังกรุงเทพ บริเวณที่พระสุกจมลงชาวบ้านจึงเรียกว่า เวินพระสุก ยังปรากฏมาจนปัจจุบันนี้ ส่วนพระเสริมนั้นได้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพฯ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดปทุมวนาราม

 

ความสำคัญ
วัดโพธิ์ชัย เป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมประจำจังหวัดหนองคายเป็นสำนักของเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย ฝ่ายมหานิกาย พระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธปฏิมา หลวงพ่อพระใส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อัญเชิญมาจากประเทศลาวมาประดิษฐานไว้จนปัจจุบัน

 

ขอขอบคุณข้อมูลที่มาจาก  :  https://th.wikipedia.org/wiki/วัดโพธิ์ชัย

ขอขอบคุณรูปภาพจาก  :  https://www.facebook.com/papaiwatofficial/

ขออภัย อยู่ระหว่างดำเนินการ